หุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน (พ.ศ. 2497) หนึ่งในพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.๙
หุ่นยนต์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญอย่างยิ่งและเป็นมิติใหม่แห่งอนาคต ต่อไปภายหน้าหุ่นยนต์จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ จุดเด่นของหุ่นยนต์คือสามารถทำงานในพื้นที่มนุษย์เข้าไปไม่ได้ เช่น ในที่ที่มีความร้อนสูง หรือมีความเย็นจัด มนุษย์ไม่สามารถเข้าไปได้ แต่หุ่นยนต์เข้าไปได้ รวมทั้งการทำงานใต้น้ำ หรือในอวกาศ หรือในที่ที่มีการติดเชื้ออย่างรุนแรง
ประโยชน์ของหุ่นยนต์มีอีกมากมาย
เพราะหุ่นยนต์ทำงานซ้ำๆ กันได้โดยไม่ผิดพลาด ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือง่วงนอน และสามารถสร้างความสนใจได้ ประการสุดท้ายคือ หุ่นยนต์ สามารถทำงานตามคำสั่งได้อย่างดียิ่ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชทรงเข้าพระทัยในเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่า หุ่นยนต์ก็คือ สุดยอดของ “ไอที” นั่นเอง
พระราชประสงค์
พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะปลูกฝังให้สร้าง “หุ่นยนต์” ขึ้นในประเทศไทย เพื่อจะได้นำไปใช้ในกิจการต่างๆ ทั้งในการสื่อสาร การเรียนการสอน การอุตสาหกรรม การแพทย์ ฯลฯ ซึ่งสถานที่ ที่จะปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุดคือ “สถานศึกษา”
เมื่อปี พ.ศ. 2497
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จฯ ไปทรงเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อให้นักเรียนได้แสดงผลงาน ความรู้ความสามารถ และได้ช่วยกันพัฒนาความรู้ ศิลปวิทยา และศิลปหัตถกรรมให้เจริญก้าวหน้า
เมื่อพระองค์ทรงเปิดงานเรียบร้อยแล้ว ได้ทอดพระเนตรผลงานของนักเรียน นักศึกษา ด้วยความสนพระทัย และที่ทรงสนพระทัยมาก คือ รถยนต์ขนาดใหญ่บังคับด้วยวิทยุ ที่สามารถใช้งานได้จริงๆ ซึ่งเป็นผลงานของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ (ปัจจุบันคือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ)
พระองค์จึงมีพระราชกระแสรับสั่งถาม อาจารย์สนั่น สุมิตร ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯในขณะนั้น ว่า “ทำหุ่นยนต์ที่เดินได้ ได้ไหม?”
อาจารย์สนั่น จึงกราบบังคมทูลตอบไปว่า “ได้ พะย่ะค่ะ”
รับสั่งถามต่อไปว่า “จะต้องใช้เงินเท่าใด ?” อาจารย์ สนั่น สุมิตร กราบบังคมทูลว่า “ประมาณ 20,000 บาท พะย่ะค่ะ”
ต่อมาไม่นานนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์แก่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ จำนวน 20,000 บาท เพื่อสร้างหุ่นยนต์ตามพระราชประสงค์
การสร้างหุ่นยนต์คุณหมอ
อาจารย์สนั่น สุมิตร ได้ปรึกษากับอาจารย์สวัสดิ์ หงษ์พร้อมญาติ หัวหน้าแผนกวิทยุ วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้สร้าง รถยนต์บังคับด้วยวิทยุ ว่าจะทำอย่างไรจึงจะสร้างหุ่นยนต์ได้ตามพระราชประสงค์
อาจารย์สวัสดิ์ หงษ์พร้อมญาติ ก็รับรองว่าสร้างได้แน่นอน จึงได้เริ่มลงมือสร้างทันที โดยมีอาจารย์สวัสดิ์ หงษ์พร้อมญาติ เป็นแม่งาน
การสร้างเริ่มจากใช้เลื่อยตัดอะลูมิเนียมให้เป็นตัวหุ่นยนต์และแขนขาหุ่นยนต์ ส่วนหัว หน้า และมือ ใช้วิธีปั้นและทาสี ซึ่งทำได้เหมือนคนมาก
เครื่องรับส่งและเครื่องบังคับวิทยุจะอยู่ที่ท้องของหุ่น แล้วใส่แบตเตอรี่และสายพานที่เท้าหุ่น ทำให้หุ่นเดินได้
เครื่องส่งและอุปกรณ์ที่จะบังคับให้หุ่นเดิน ยกมือไหว้ พูด ฟัง โต้ตอบ และทำงานได้อีกหลายอย่างจะอยู่นอกตัวหุ่น หุ่นจะเดินได้ด้วยการบังคับจากภายนอก
เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
จึงนำมาทดลองใช้งานดู เมื่อเห็นว่าใช้ได้ อาจารย์สนั่นจึงได้นำความกราบบังคมทูลให้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า หุ่นยนต์ได้สร้างเสร็จแล้วตามพระราชประสงค์ โดยที่ส่วนประกอบทุกชิ้นสร้างในแผนกวิทยุ ของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ
ทรงรับสั่งให้นำหุ่นยนต์คุณหมอไปแสดงครั้งแรกที่ใด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสรับสั่งให้นำหุ่นยนต์คุณหมอไปแสดงในงานกาชาด ที่สถานเสาวภา ปรากฏว่า หุ่นยนต์ คุณหมอพระราชทานช่วยประชาสัมพันธ์งานได้อย่างดียิ่ง ทั้งยังให้คำแนะนำในเรื่องการรักษาสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนที่มาชมงาน การแสดงหุ่นยนต์ในงานกาชาดครั้งนั้น นับว่าประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง
หุ่นยนต์คุณหมอ พระราชทาน ทำอะไรได้บ้าง
การสร้างหุ่นยนต์ในครั้งนั้น ทำให้ทราบว่า มีคนอีกจำนวนมากที่ต้องการที่พึ่ง โดยวินิจฉัยจากการที่ผู้คนมาถามปัญหากับหุ่นยนต์คุณหมอ ถ้ามีหุ่นยนต์คุณหมอคอยตอบปัญหา ก็จะช่วยประชาชนที่มีปัญหาทางจิตได้มาก เพราะคนไข้ไม่ต้องอายหมอ
พระราชทานหุ่นคุณหมอไว้ใช้เพื่อการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน หุ่นยนต์คุณหมอแก่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ สำหรับไว้ใช้สอนนักศึกษา ทำให้นักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ได้เรียนเกี่ยวกับการ โทรคมนาคม คือ การติดต่อสื่อสารทางไกล เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีอัตโนมัติจากหุ่นยนต์
หุ่นยนต์คุณหมอเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกในโลก ที่มีรูปร่างคล้ายคนขนาดเท่าคนจริง และแต่งกายแบบคุณหมอ
ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าในที่ที่ติดเชื้อ คุณหมอที่เป็นคนจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถ้าใช้หุ่นยนต์คุณหมอจะไม่มีอันตราย และคนย่อมต้องการให้คุณหมอที่คล้ายคนรักษามากกว่า คุณหมอในรูปลักษณ์อื่นๆ
คุณสมบัติอย่างหนึ่งของหุ่นยนต์คุณหมอคือ ไม่ติดเชื้อ จึงไม่ต้องกลัวเชื้อโรค ถึงแม้จะมีเชื้อโรคติดมาตามเสื้อผ้า ก็สามารถที่จะใช้รังสีฆ่าเชื้อโรคนั้นได้ ก่อนออกจากตู้ปฏิบัติการ
ในปี พ.ศ. 2498 คงจะไม่มีใครคาดคิดว่า ต่อไปในวันข้างหน้าจะมีโรคติดต่ออย่างร้ายแรง ซึ่งคุณหมอที่เข้าไปรักษาคนไข้อาจ ติดเชื้อโรคร้ายจากคนไข้ได้ เช่น คุณหมอที่เข้าไปผ่าตัดผู้ที่ป่วยเป็นโรค “เอดส์” ที่ประสบอุบัติเหตุ คุณหมอจะไม่มีโอกาสตรวจเลือดก่อนได้เลย และถ้าเลือดของผู้ป่วยเข้าไปใน ตัวของคุณหมอ คุณหมอก็จะติดเชื้อโรคร้ายได้
หากใช้หุ่นยนต์คุณหมอผ่าตัด หรือรักษาคนไข้ หุ่นยนต์คุณหมอจะไม่ติดเชื้อโรคอย่างแน่นอน นับเป็นคุณสมบัติเพียงข้อเดียว ในจำนวนอีกหลายข้อ ที่จะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริกว้างไกลเพียงใด
เหตุใดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างหุ่นยนต์คุณหมอ
เพราะพระองค์ทรงห่วงใยคุณหมอ ทั้งที่จะต้องเผชิญกับเชื้อโรคอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะคุณหมอต้องมีจรรยาบรรณ เมื่อพบคนเจ็บป่วยก็ต้องรักษา แม้จะทราบว่าตนเองอาจได้รับอันตราย แต่ถ้ามีหุ่นยนต์คุณหมอช่วยรักษาในที่ที่มีการติดเชื้อ คุณหมอที่เป็นคนก็จะปลอดภัย และนี่คือพระราชดำริที่มีพระอัจฉริยภาพอย่างยิ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราชของชาวไทย
เครดิตข้อมูล หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฉบับกาญจนาภิเษก